ประวัติสำนักพุทธ
ประวัติความเป็นมา
เนื่องจากการปฏิรูประบบราชการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ส่งผลให้มีการประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งกำหนดให้มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงาน สนองงานคณะสงฆ์และรัฐ โดยทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาให้การอุปถัมภ์ คุ้มครอง และส่งเสริมงานพระพุทธศาสนา ดูแล รักษา จัดการศาสนสมบัติ พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งให้การสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาบุคลากรทางศาสนา แต่เนื่องจากโครงสร้างส่วนราชการขาดหน่วยงานระดับพื้นที่ในส่วนภูมิภาค จึงไม่สามารถปฏิบัติภารกิจรองรับการกระจายอำนาจจากส่วนกลางในกิจการพระพุทธศาสนาและสนองงานคณะสงฆ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงพิจารณาให้จัดตั้งส่วนราชการเป็นการภายในมีฐานะเทียบเท่ากองเรียกว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่ในระดับจังหวัด ตามการแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคของกระทรวงมหาดไทย รวม 75 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ขึ้นตรงอยู่ในบังคับบัญชาของ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นการภายใน เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547
ต่อมาได้กำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2549 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123ตอนที่ 25ก ลงวันที่ 14มีนาคม 2549 มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.ศึกษา วิเคราะห์ และรายงานข้อมูลสารสนเทศด้านพระพุทธศาสนา เพื่อกำหนดนโยบาย ในระดับจังหวัด รวมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ไข
2.ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย แผนงาน โครงการของหน่วยงานในความดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ
3.ส่งเสริม ดูแล รักษา และทำนุบำรุงศาสนสถานและศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งดูแล รักษา และจัดการวัดร้างและศาสนสมบัติกลางในจังหวัด
4.ส่งเสริมและสนับสนุนให้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแหล่งภูมิปัญญาของชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้มีศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมทาง พระพุทธศาสนาของจังหวัด
5.ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และด้านพุทธศาสนศึกษา รวมทั้งดูแลและควบคุมมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดภายในจังหวัดให้ผู้เรียนมีความรู้ คู่คุณธรรม และพัฒนาบุคลากรทางพระพุทธศาสนา
6.รับสนองงาน ประสานงาน และสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ ตลอดจนการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา
7.ส่งเสริมและประสานการดำเนินงานในการปฏิบัติศาสนพิธีและกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
8.ปฏิบัติงานตามกฎหมายในความรับผิดชอบของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตามที่ได้รับมอบหมาย
9.ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
Last Updated (Tuesday, 28 February 2012 10:41)