วัดป่าอตุโลบุญญลักษม์

วัดป่าอตุโลบุญญลักษม์ (ธ)

ข้อมูล : วัดป่าอตุโลบุญญลักษม์ (ธ)

            วัดป่าอตุโลบุญญลักษม์  ก่อตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕ ครั้งสมัยที่ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภอรัตนบุรี ท่านได้แวะมาปฏิบัติธรรม ในเขตอำเภอรัตนบุรี  สนม  ท่าตูม  ฯลฯ เพราะเป็นสถานที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม องค์หลวงปู่ดูลย์ มีความดำริจะสร้างวัดขึ้เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชาวบ้านละแวกนี้  แม้หลวงปู่มิได้แสดงความปรารถนาให้กระจ่างชัดแก่ศิษย์ หลวงปู่จึงปรารภเรื่องสร้างวัดกับอุบาสิกา กาญจนา บุญญลักษม์ ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐาก และเป็นศิษย์ผู้ศึกษาธรรมได้รับทราบโดยมอบให้ นายไพบูลย์ บุญญลักษม์ ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่อำเภอสนม สำรวจดูสถานที่ที่มีความเหมาะสมได้พบที่ป่าช้าสาธารณะซึ่งเป็นป่าช้ารกร้างที่หมู่บ้านโดน หลวงปู่ดูลย์ จึงมอบหมายให้พระอาจารย์เยื้อนซึ่งเป็นศิษย์อีกรูปหนึ่งของหลวงปู่ โดยที่หลวงปู่ได้ส่งพระอาจารย์เยื้อนซึ่งท่านเคยไปอบรมกรรมฐานอยู่กับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา ๔ ปี และกลับมาพักอยู่วัดบูรพาราม ในช่วงขณะนั้นพอดีให้ไปปักกลดภาวนาในพื้นที่ป่าช้าสาธารณะนั้นเป็นการบุกเบิก

            ชาวบ้านเริ่มศรัทธาในตัวท่านมากขึ้น และในที่สุดโดยการนำของ นายปัญญา  บุญญลักษม์ ได้พร้อมใจกันตกลงซื้อที่ดิน จำนวน ๒๕ ไร่ ราคา ๖๕,๐๐๐ บาท (หกหมื่นห้าพันบาทถ้วน) จากนางถาวร อึ้งพานิช และถวายให้สร้างวัด และให้ชื่อว่า "วัดป่าบุญญลักษม์" ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ของตระกูลบุญญลักษม์ที่มีศรัทธาปสาทะในบวรพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นมงคลนามตามที่หลวงปู่ดูลย์ มอบไว้ในครั้งเริ่มแรกสร้างวัดต่อมาหลวงปู่ได้ให้รื้อศาลาไม้หลังเก่าจากวัดบูรพารามมาสร้างไว้เป็นศาลาที่พัก และท่านได้เคยแวะเวียนมาพำนักอยู่ที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ

            ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยการนำของพระอาจารย์เยื้อน ขนฺติพโล ได้เริ่มนำพาคณะชาวบ้านที่ศรัทธาก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ เช่น กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น โดยเรียกชื่อว่า วัดป่าบ้านโดน ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ โดยมีชื่อวัดว่า "วัดป่าบ้านโดน" ซึ่งเป็นวัดป่าในสายธรรมยุตวัดแรกในเขตอำเภอสนม

            ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้กราบทูล สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ขอประทานชื่อวัดใหม่ เพื่อความเป็นสามัคคีปรองดองและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการปฏิบัติกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึง และสนองตามเจตนารมณ์ของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

            ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการเปลี่ยนแปลงชื่อวัด โดยที่เห็นสมควรเปลี่ยนแปลงชื่อวัดบ้านโดน ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านโดนหมู่ที่ ๘ ตำบลสนม อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ เป็น "วัดป่าอตุโลบุญญลักษม์" ตามที่สมเด็จพระสังฆราชประมานให้ ด้วยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมกระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศเปลี่ยนแปลง ชื่อวัด "บ้านโดน" เป็นวัด "ป่าอตุโลบุญญลักษม์" 

ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดป่าอตุโลบุญญลักษม์

            เจ้าอาวาสรูปแรก พระครูภาวนาวิทยาคม (เยื้อน ขนฺติพโล) พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๔๐ พระอาจารย์เยื้อน เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ที่บ้านระไซร์ ตำบลนาดี อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เดิมชื่อ นายเยื้อน  หฤทัยถวาร บิดาชื่อนายมอญ หฤทัยถาวร มารดาชื่อ นางหิต  หฤทัยถาวร มีพี่น้องทั้งหมด  ๙  คน ท่านเป็นบุตรคนแรก 
            อุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕   ณ  วัดบูรพาราม  อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมีพระรัตนากรวิสุทธิ์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธรรมยุต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสถิตสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิมลสีลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การศึกษา

           สามัญจบประถมศึกษาปีที่ ๔  จากโรงเรียนบ้านระไซร์ ตำบลนาดี อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

การฝึกปฏิบัติกรรมฐาน

           ศึกษาธรรมและปฏิบัติภาวนาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เริ่มแรกที่บวชโดยศึกษากับ หลวงปู่ดูลย์ ซึ่งท่านพระอาจารย์เยื้อน ได้สอบจิตทำความสงบสามารถปฏิบัติภาวนาได้รวดเร็ว หลวงปู่ดูลย์ จึงได้สนับสนุนให้ปฏิบัติธรรม ต่อมาท่านได้ฝากให้เข้ารับการศึกษาอบรมข้อวัตรปฏิบัติ กับ หลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้ฝึกปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงตาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงได้กลับมาอยู่ประจำที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ตามเดิม

การบริหารและการพัฒนา วัดป่าอตุโลบุญญลักษม์

           สร้างอุโบสถ และศาลาการเปรียญสองชั้น แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ พร้อมพระประธานประจำอุโบสถ
           สร้างกุฏิถาวรเพื่อการพักอาศัยของภิกษุสามเณร ชีและอุบาสก อุบาสิกาที่มาปฏิบัติธรรมโดยสร้างเป็นกุฏิก่ออิฐ ฉาบปูน เสริมโครงเหล็ก ได้เริ่มสร้างกฏิที่ถาวรขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เรื่อยมา

          เจ้าอาวาสรูปที่ ๒  พระครูสุทธิปัญญาภรณ์ (วุฒิศักดิ์  สุทฺธิปญฺโญ) พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึงปัจจุบัน
          ชาติภูมิ นามเดิม วุฒิศักดิ์  กมลเปี่ยมศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่บ้านเลขที่ ๑๓๑ ตรอกแสงจันทร์ เขตยานาวา แขวงยานาวา กรุงเทพมหานคร บิดาชื่อ นายฮั้วเหมียว  แซ่เฮ้ง มารดาชื่อ นางท้อ  แซ่เจี่ย มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ 
          บรรพชาเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ ณ พัทธสีมา วัดบูรพาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี พระสุทธิธรรมรังษี เป็นพระอุปัชฌาย์
          อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ ณ พัทธสีมา วัดบูรพาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ได้รับฉายาว่า "สุทฺธิปญฺโญ"  โดยมี เป็นพระอุปัชฌาย์ คือ พระสุทธิธรรมรังษี พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระครูธรรมาภิวุฒ พระอนุสาวนาจารย์ คือ พระครูใบฎีกาเยื้อน ขนฺติพโล

การบริหารและการพัฒนาวัด

          พ.ศ. ๒๕๓๘ ก่อสร้างกำแพงแก้วรอบอุโบสถ จากนั้นได้ขุดสระน้ำเพื่อการใช้อุปโภคภายในวัดเพิ่มขึ้น หนึ่งสระ และได้ทำการปลูกต้นไม้ยืนต้นภายในวัดเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ เนื่องจากแต่เดิมพื้นที่ภายในวัดเป็นทุ่งนา
          พ.ศ. ๒๕๓๙ เริ่มดำเนินการสร้างกุฏิสงฆ์ที่ถาวรมั่นคง ซึ่งแต่เดิมนั้นกุฏิสงฆ์ภายในวัดโดยมากเป็นกุฏิไม้ ซึ่งยังไม่มั่นคงถาวร ปัจจุบันมีกุฏิสงฆ์ทั้งหมด ๑๓ หลัง 
          พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๒  สร้างเมรุ ศาลาที่พัก และห้องน้ำ ห้องสุขาของวัด จำนวน ๓ อาคาร รวมทั้งหมด ๓๐ ห้อง
          พ.ศ. ๒๕๔๔ ดำเนินการสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ขนาดกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร เพื่อใช้สำหรับเป็นที่พักของผู้มาปฏิบัติธรรม
          พ.ศ. ๒๕๕๐  ดำเนินการสร้างเจดีย์เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและรูปเหมือนพระเดชพระคุณเจ้าประคุณ  พระราชย์วุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล)  บูรพาจารย์ผู้ปรารภในการสร้างวัดป่าอตุโลบุญญลักษม์ เพื่อสักการะบูชา

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 569,775